ทำไมต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา ?

 

      "คุณภาพของคน" เป็นปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ และ "การศึกษา" เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้กำหนดให้มี "ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา" เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ โดยที่ "ครู" เป็นปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและการประกัน คุณภาพการศึกษา ดังนั้นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของการ ประกันคุณภาพ สามารถวิเคราะห์ระบบและกระบวนการในการประกันคุณภาพการศึกษาได้ สามารถกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาได้ และสามารถดำเนินการให้เกิดคุณภาพการศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของครูในระบบการ ประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก พร้อมทั้งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

      ปัจจุบันมีปัจจัยภายในและภายนอกประเทศหลายประการที่ทำให้การประกันคุณภาพการ ศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การตื่นตัวในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศต่าง ๆ การสื่อสารที่ไร้พรมแดน การเพิ่มเสรีด้านการค้าและการบริการ ความคาดหวังของสังคม สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อจำกัดในด้านงบ ประมาณของประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นให้ ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาตระหนักถึงเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งปรากฏออกมาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และการประกันคุณภาพการศึกษาตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ ได้กำหนดจุดมุ่งหมาย และหลักการของการจัดการศึกษา ที่ต้องมุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดย กำหนดรายละเอียดไว้ในหมวด ๖ มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา ๔๗ กำหนดให้มีระบบ การประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบ การประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก และในวรรคสอง บัญญัติว่า ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวง คือ  กฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน สถาน ศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๖ ข้อ ๒ วรรคสอง บัญญัติว่า ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

  • การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ
  • การพัฒนามาตรฐานการศึกษา
  • การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  • การดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  • การตรวจสอบและการทบทวนคุณภาพการศึกษา
  • การประเมินคุณภาพการศึกษา
  • การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี
  • การผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

      การประกันคุณภาพภายใน มาตรา ๔๘ กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน สถานศึกษา และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก

      การประกันคุณภาพภายนอก มาตรา ๔๙ กำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามีฐานะเป็นองค์การ มหาชน ทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

     ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา จำแนกได้เป็น ๒ ส่วน คือ

      ๑. การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน (Internal Quality Assurance) หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาจากภายใน โดยวงจร PDCA (Plan – Do – Check – Act) เป็นการปฏิบัติโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษาหรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษา

      ๒. การประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก (External Quality Assurance) หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษา จากภายนอกโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของ สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย
           ๒.๑ การตรวจสอบคุณภาพที่ผ่านกระบวนการประกันคุณภาพภายใน
           ๒.๒ การประเมินคุณภาพ
           ๒.๓ การให้การรับรอง

      หลักการของการประกันคุณภาพการศึกษา

      ๑. การสร้างความมั่นใจและสร้างความพึงพอใจในคุณภาพการศึกษา
      ๒. การป้องกันปัญหา ต้องมีการวางแผนและเตรียมการ
      ๓. การตั้งมั่นบนหลักวิชาในการพัฒนาหลักวิชาชีพ
      ๔. การดำเนินงานสามารถติดตามตรวจสอบและประเมินตนเองได้
      ๕. การดำเนินงานเน้นคุณภาพในการปฏิบัติงานทุกระดับทุกขั้นตอน
      ๖. การสร้างความรู้ ทักษะและความมั่นใจให้กับบุคลากรในสถานศึกษา
      ๗. การประสานสัมพันธ์ในองค์กร บุคลากรในพื้นที่
      ๘. การเน้นภาวะผู้นำของผู้บริหาร