Get Adobe Flash player
Thai English French German Italian Portuguese Russian Spanish

สถิติผู้เข้าชม

001104316
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
รวมทั้งหมด
93
72
211
1103602
1831
1043
1104316

Your IP: 13.58.82.79
Server Time: 2024-04-23 21:14:28

ผุ้ใช้งานในขณะนี้

มี 5 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

บทเรียนจากการปฏิบัติงาน (Lesson Learned) ภารกิจ UNAMID

บทเรียนจากการปฏิบัติงาน (Lesson Learned)
ภารกิจ UNAMID  
พ.ต.จุน  มงคลทรัพย์
ผู้สังเกตการณ์ทางทหารสหประชาชาติ   On call list 55


๑. ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
    การจัดส่งกำลังพลประเภทบุคคลของกองทัพไทย เพื่อสนับสนุนภารกิจปฏิบัติการผสมสหประชาชาติ – สหภาพแอฟริกันในดาร์ฟูร์ (UNAMID)  เมื่อได้รับการร้องขอจากสหประชาชาติ
    ประเทศไทยมีพันธกรณีกับสหประชาชาติที่จะต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงแห่งประชาชาติในฐานะชาติสมาชิกกำหนดไว้ในหมวด ๑ มาตรา ๒ โดยไทยได้เข้าเป็นสมาชิก สหประชาชาติลำดับที่ ๕๕ เมื่อ ๑๖ ธ.ค. ๒๔๘๙ หลังจากสหประชาชาติก่อตั้งได้ ๑ ปี นอกจากพันธกรณีในฐานะสมาชิกแล้วประเทศไทยยังเป็นสมาชิกในระบบกองกำลังเตรียมพร้อมสหประชาชาติตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑
    กองทัพไทยนอกจากจะมีบทบาทในการป้องกันรักษาอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคงภายในและการพัฒนาประเทศตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแล้ว กองทัพยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลในการดำเนินงานการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ เสถียรภาพและพลังอำนาจของชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือผลประโยชน์สูงสุดของชาติ ด้วยเหตุนี้เองบทบาทการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของกองทัพไทยจึงถูกกำหนดไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือของรัฐโดยนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก และมีนโยบายของกระทรวงกลาโหมเพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐตามลำดับชั้น ทั้งนี้มิได้จำกัดเฉพาะบทบาทภายใต้กรอบสหประชาชาติเท่านั้น นโยบายยังกำหนดบทบาทความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกหรือมีพันธกรณี
๒. กระบวนการเตรียมตัวและการปฏิบัติทางธุรการ
    ๒.๑    การจัดเตรียมบัญชีรายชื่อพร้อมเรียกปฏิบัติงาน (On Call List) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๕
        ๒.๑.๑    การประกาศรับสมัคร และการสอบคัดเลือกบุคคล  
            - ประกาศรับสมัคร
            - การสอบ ALC ณ ศภษ.ยศ.ทบ. เป็นการคัดเลือกกำลังพลเบื้องต้นของเหล่าทัพ
    - การสอบเทศร่างกาย สนามกองบัญชาการกองทัพไทย การสอบ ECL ( listening 66 , reading 34) และวิชาการความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติและการรักษาสันติภาพ (ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ จำนวน ๑๐๐ ข้อ ) เมื่อ ๗ ธ.ค.๕๔ ณ ห้องประชุม ศสพ.    
            - สอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยเป็นการการแนะนำตัวทั่วไปและปฏิภาณไหวพริบในการตอบคำถามเกี่ยวการการปฏิบัติงานที่จะต้องไปเจอในภารกิจ ในการตอบภาษาอังกฤษจะคิดคะแนนจาก ความสามารถในการตอบคำถาม ซึ่งต้องอยู่ในหลักการที่ถูกต้อง ถูกหลักไวยกรณ์ภาษาอังกฤษ ความคล่องแคล่ว และความสอดคล้อง ระหว่าง ๑๔ ธ.ค. ๕๔ ( รอบเช้า และรอบบ่าย ) ณ ห้องบัณฑิตวิทยาลัย ๒ บก.สปท.
        ๒.๑.๒    การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง
            - ผู้สังเกตการณ์ทางทหารสหประชาชาติ/ฝ่ายอำนวยการ (UN Military Observer Course/Staff Officer Course) ณ อาคารศูนย์สันติภาพ จอมทัพไทย ๖๐ ปี บก.ทท. ในห้วง ๑๒ ม.ค. –  ๒ก.พ.๕๕ และ ๑๓ . – ๒๖ ก.พ.๕๕
            - สำหรับการการอบรมในปีดังกล่าว มีการอบรมการขับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ 4x4 เฉพาะ Staff Officer Course
        ๒.๑.๓ ขึ้นบัญชีบรรจุกำลังพลในกลุ่มตำแหน่งฝ่ายอำนวยการ/นายทหารติดต่อ และ ผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ตามคำสั่ง ทท. ที่ ๓๒๓/๒๕๕๒ ลง ๒๓ ธ.ค.๒๕๕๒
    ๒.๒    การเตรียมการด้านต่างๆก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ
        ๒.๒.๑    การอนุมัติให้กำลังพลเข้าร่วมการปฏิบัติภารกิจ
                - อนุมัติ คำสั่ง กห (เฉพาะ) ที่ ๒๔๗/๕๓ ลง ๒๘ ส.ค.๕๔ เรื่อง ให้ข้าราชการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ในปฏิบัติการผสมสหประชาชาติ – สหภาพแอฟริกาในดาร์ฟูร์ สาธารณรัฐซูดาน            
        ๒.๒.๒    จัดเตรียมหนังสือเดินทาง, ประวัติบุคคล (P-11) ส่งสำเนาถึง สน.ปทษ.คผถ.ฯ            
        ๒.๒.๓    การตรวจร่างกายสำหรับข้าราชการผู้ต้องเดินทางไปยังต่างประเทศ ณ รพ.พระมงกุฎเกล้า ใช้แบบฟอร์ม ผลตรวจโรค (MS-2) ส่งถึง สน.ปทษ.คผถ.ฯ
        ๒.๒.๔     ก่อนการเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ณ สถาบันบำราศนราดูร สำหรับป้องกันโรค บาดทะยัก, Yellow Fever และที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สำหรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี โรคพิษสุนัขบ้าและทานยาป้องกันอหิวาห์ตกโรค โดยให้นำหนังสือเดินทาง, คำสั่งอนุมัติให้ปฏิบัติหน้าที่ ไปด้วย ซึ่งสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ แต่ละประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ก็มีโรคเฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องแจ้ง จนท. พยาบาลให้แน่ชัดว่าไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศใด
        ๒.๒.๕    ดำเนินการส่งสิ่งของผ่านบริษัท DHL ซึ่งในภารกิจ UNAMID นี้ ได้รับอนุมัติน้ำหนักบรรทุก ๑๐๐ กก. (ไม่รวมน้ำหนักกล่อง) โดยต้องกรอกแบบฟอร์ม Way Bill และ Performa Invoice (รายการสิ่งของทั้งหมดและราคา) จัดส่งจากสำนักงาน DHL สาขาถนนพระราม ๓ และสามารถให้เจ้าหน้าที่มารับพัสดุที่บ้านได้
        ๒.๒.๖    รับหนังสือ TA / FA, ตั๋วเครื่องบินจากสำนักงาน UNESCAP
        ๒.๒.๗    อนุมัติวีซ่า สาธารณรัฐซูดาน (การทำวีซ่าลงบันทึกในหนังสือเดินทาง จะทำเมื่อรายงานตัวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว)
        ๒.๒.๘    การเดินทาง ในวันที่ ๕ พ.ย.๕๕ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบิน QR 617 เวลา ๐๒๒๐ ถึง โดฮา เวลา ๐๕๕๐จากท่าอากาศยานโดฮา เที่ยวบิน QR 522 เวลา ๐๗๑๕ ถึง คาร์ทูม เวลา ๑๐๕๕
- ขอทำ Entry VISA ณ ตม.คาร์ทูม
๒.๓     เข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน
        ๒.๓.๑    ขั้นเตรียมการ
            ๒.๓.๑.๑    ในพื้นที่เมือง Khartoum
                - รายงานตัว ณ Military Liaison Office ณ UN HQ เมืองคาร์ทูม
                - กรอกประวัติ, ถ่ายรูป, ทำบัตรประจำตัว, รับ MOP  (รูป)
                - รับฟัง Security Brief ชี้แจงสถานการณ์เรื่องความปลอดภัยต่างๆในประเทศซูดาน
                - การทำ Security test และรับใบประกาศนียบัตร (รูป)
            ๒.๓.๑.๒ในพื้นที่เมือง El Fasher
              - รายงานตัว ณ CMPO  Office อยู่บริเวณกองบัญชาการ AMIS (African Union Mission in Sudan) เก่า ก่อนที่จะแปลงมาเป็นภารกิจ UNAMD โดยต้องเข้าไปใน Check-in Office ซึ่งจะมี Check-in Officer ให้การต้อนรับและแนะนำคร่าวๆ เกี่ยวกับพื้นที่กองบัญชาการ FHQ(Force Head Quarter), การเดินทาง, ออฟฟิศต่างๆที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนปฏิบัติก่อนเริ่มเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติงานจริง(แต่ละSector)ของแต่ละคน โดย จนท. Check-in Officer นี้ จะนำหนังสือเดินทางของเราไปที่วีซาตัวจริงให้ เพื่อต่ออายุวีซา On Arrival จนถึงเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจด้วย
            - Induction Course กำหนด ๔ วัน ห้วงวันที่ ๙ – ๑๒ พ.ย.๕๕ โดยรับฟังการบรรยายจากส่วนงานต่างๆ ใน บก.UNAMID เนื้อหาประกอบด้วย UNAMID Structure, Conflict in Darfur, Security Briefing, Introduction to UN & Peacekeeping  Operations, UN/AU Hybrid Force Mandate and Mission Structure, Introduction to Darfur Peace Agreement (DPA), Role and Responsibilities of UNAMID Military and Police, Peacekeeping Best Practices Tool box, Public Information and Media, Gender Issues in the UN, Child Protection, Humanitarian Situation in Darfur, Protection of Civilians in Darfur, Cultural Concepts and Awareness, Medical Issues, Aviation Safety, Human Rights, Stress Management, PCIU Briefing, Transport, UN Core Values , Competencies and courtesy, HIV/AIDS and Sexually Transmitted Diseases, Conduct and Discipline for UN Peacekeepers, CFC Mandate and Structure, JLOC Role, Information  Gathering, Data Compilation, Reporting & Monitoring  Procedures, CMPO Regulations, CIMIC From Military Perspective, Finance, Safe Driving and UNAMID Driving Regulations, Fire & Safety, Law of Armed Conflict.
            - ทดสอบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษโดย(ทดสอบหลังจากเรียน Induction Course จบวันที่สอง) เป็นข้อสอบทั้งปรนัยและอัตนัย ไม่ยากมากนักแต่ต้องผ่าน เกณฑ์ผ่าน ๗๕% โดยนายทหารไทยทั้งหมดสามารถผ่านการทดสอบ
         - ทดสอบทักษะการใช้ยานพาหนะ  จะทำการทดสอบภาควิชาการ(ทดสอบหลังจากเรียน Induction Course จบวันที่ ๓) และภาคปฏิบัติ (วันอาทิตย์แรกหลังจากจบ Induction Course) สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบ จะมีโอกาสกลับเข้ามารับการทดสอบอีก รวมทั้งสิ้น ไม่เกิน ๓ ครั้ง ผู้ผ่านการทดสอบจะได้รับ Driving Permit Cat B สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ และรถบัส ซึ่งใช้รูดกับ Car Log ที่ติดตั้งอยู่ในรถของ UN ทุกคัน
 
                - เบิกรับวิทยุมือถือและขอ PIN CODE (สำหรับใช้แทนโทรศัพท์มือถือ), ส่งข้อมูล Tracking Unit สำหรับการติดตามว่าเจ้าหน้าที่ UNAMID แต่ละคนซึ่งข้อมูลนี้จะสัมพันธ์กับ MOP
                - เปิดบัญชี Bank of Khartoum (สามารถทำบัตร ATM ได้แต่ใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะได้ตัวบัตร), กรอก MSA Distribution Form (สำหรับแบ่งสรรเงินเบี้ยเลี้ยงในการโอนข้ามประเทศ) และ รับ Advanced Cheque(เบี้ยเลี้ยงยังชีพสำหรับการเข้ามาปฏิบัติภารกิจ ๑๕ วันแรก วันละ ๑๘๘ USD)
- ติดต่อรับสิ่งของส่วนตัวที่จัดส่งทาง DHL ถูกส่งมาจากคาร์ทูม มาที่ El-Fasher ที่ MOVCON Office (อยู่ใน AMIS)
                - รับ Deployment Letter ที่ Check-in Office มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานเป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหาร UNMO (United Nation Military Observer) หรือ MILOB (Military Observer) ประจำหน่วยปฏิบัติการหรือที่เรียกว่า MTL (Military Team Location) หรือ TS (Team Site) ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละ Sector (มีทั้งหมดประกอบด้วย Sector North, Sector West และSector South) โดยกระผมได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ BURAM  TS, Sector South ๖ เดือน และ KABKABIYA TS, Sector North  ๕ เดือน
    ๒.๓.๑.๓    กองบัญชาการ Sector North, Zam Zam
            - การรายงานตัว ณ G1 Cell และ ห้องประชุม Morning Brief เมื่อ ๑๕ พ.ย.๕๕ เพื่อทำการแนะนำตัวให้กับนายทหารในกองบัญชาการ Sector North ท่านอื่นๆทราบประวัติและข้อมูลของเรา รวมทั้งผ่านภารกิจอะไรมาบ้าง
            - Induction Course กำหนด ๑ วัน โดยรับฟังการบรรยายจากฝ่ายอำนวยการ ซึ่งจะเป็นผู้แทนจากแต่ละส่วนงานใน บก.Sector North (G1 – G9)
            - รับ Deployment Letter (ในส่วนของ SN ว่าจะลงปฏิบัติงาน ณ Team Site ใด) และได้รับคำแนะนำ และข้อมูล จากผู้ที่เคยผ่านการปฏิบัติงานจริงที่หน่วยปฏิบัติ
        ๒.๓.๒    การปฏิบัติงานในภารกิจ
                  Sector Commander มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานเป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหาร UNMO (United Nation Military Observer) หรือ MILOB (Military Observer) ประจำหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ Sector South ทั้งหมด ๑๑ แห่ง โดย TS แรกที่กระผมได้รับคำสั่งให้ไปประจำคือ BURAM MTL อยู่ทางทิศใต้ของ NYALA จากนั้นได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่  KABKABIYA MTL
Sector North ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ El-Fasher ตามลำดับ

วัน/เดือน/ปี    Team Site    ตำแหน่ง
๒๐ ธ.ค.๕๕ – ๑๙ มิ.ย.๕๖     Buram    Communicaton/Logistics
๒๐ มิ.ย.๕๖ – ๒๕ พ.ย.๕๖     Kabkabiya    Ops Officer/Logistics
   
 การปฏิบัติภารกิจ    
            Buram – MTL ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ NYALA แต่ในการปฏิบัติภารกิจจริง ขึ้นสมทบกับ NYALA TS  จำนวนผู้สังเกตการณ์ทางทหารประมาณ ๘-๙ คน (จำนวนไม่แน่นอนเนื่องจากบางช่วงมีการย้ายหมุนเวียนและการจบภารกิจ) ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลัง (Protection Force; PKF) ขนาด ๑ กองร้อย จากประเทศไนจีเรีย และ ตำรวจขององค์การสหประชาชาติ (UN Police) จำนวนประมาณ ๓๐ นาย จากหลายประเทศ การปฏิบัติด้านยุทธการเป็นการลาดตระเวนต่างๆ ได้แก่ ลาดตระเวนประจำวัน (Routine Patrol: RP) ลาดตระเวนระยะใกล้ (Short Range Patrol: SRP) ลาดตระเวนระยะไกล (Long Range Patrol: LRP) การจัดขบวนคุ้มกันด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Escort: HE) และการจัดขบวนคุ้มกันด้านธุรการและการส่งกำลังบำรุง (Logistic and Administration Escort: LAE) เป็นประจำทุกวัน  

Kabkaiya – MTL
  
            ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ El-Fasher ผู้สังเกตการณ์ทางทหารประมาณ ๗-๘ นายจากประเทศต่างๆ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังขนาด ๑ กองร้อย จากประเทศรวันดาตำรวจขององค์การสหประชาชาติ (UN Police) จำนวนประมาณ ๓๐ นาย จากหลายประเทศ  เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของกองร้อยรวันดาชาร์ลี (Charlie Coy) ของกองพันรวันดาที่ ๓๖ (RWANBATT 36) ซึ่งเป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัย (Protection Force) และโรงพยาบาลมองโกเลีย (Mongkolia Hospital) โดยพื้นที่ของฐานปฏิบัติการ  Kabkabiya  มีความสงบความเรียบร้อย แต่ก็ยังมีกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ ปฏิบัติการอยู่ประปราย ทั้งนี้เนื่องจากการที่มีกองกำลังของสหประชาชาติ(UN) จากฐานปฏิบัติการณ์ Kabkabiya ร่วมปฏิบัติการในการลาดตระเวน และแสดงตัวเป็นประจำทุกวัน ทำให้สถานการณ์โดยรวมปัจจุบันไม่รุนแรงและอยู่ในความเรียบร้อย แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ สภาพอากาศโดยทั่วไป กระผมปฏิบัติงาน ที่นี่เป็นเวลา ๕ เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน คาบเกี่ยวระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว การปฏิบัตในฤดูฝนจะมีปัญหาในเรื่องพายุทรายและฝนที่ตกหนัก ทำให้เส้นทางที่ใช้ในการลาดตระเวน มีสภาพที่ยากลำบาก  การลาดตระเวนโดยมักจะมุ่งเน้นไปที่โครงการ Quick Impact Project;  WFP ,Humanitarian escort, การลาดตะเวนร่วมกับ CIVPOL
           
๒.๓.๓    ขั้นสิ้นสุดภารกิจ และเดินทางกลับประเทศ
        เริ่มดำเนินการ Check-out ในห้วง ๑๔ วัน ก่อนถึงวันสิ้นสุดภารกิจ และเดินทางกลับประเทศ
        ๒.๓.๓.๑ ณ บก.Sector North
                ขั้นตอนการสิ้นสุดภารกิจ (Check-out Process) นั้น Sector North ได้กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ทางทหารมีเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนนี้ ๑๑ วันงาน โดยต้องดำเนินการส่งมอบหน้าที่
ส่งสิ่งของที่อยู่ในความรับผิดชอบ (Hand over) และจัดทำเอกสาร Clearance Form เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้ดำเนินการเรียบร้อย (การดำเนินการดังกล่าว และเอกสารนี้จะต้องจัดทำในกรณีการย้ายหมุนเวียนไปหน่วยอื่นด้วย) กระผมไปรายงานตัว ณ G1 Cell เพื่อเริ่มดำเนินการ Check-out ตั้งแต่ ๑๐ พ.ย.๕๖ ขอรับ Check-out Form เพื่อให้ หน.ส่วน ลงนาม โดยเอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่ Confidential Report ที่ลงนามโดย Team Leader ส่วน Confidential Report ต้องดำเนินการเสนอให้ผู้บังคับบัญชาลงนามล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดภารกิจ เป็นเวลา ๓๐ วัน

            ๒.๓.๓.๒    ณ CMPO Office
                - การรายงานตัว ณ CMPO Office เพื่อรับเอกสารในการ Check out ไปให้ส่วนต่างๆที่เกี่ยวของลงนาม ในห้วงเวลา ๑๐ - ๑๖ พ.ย.๕๖ รวมถึงรับ MSA ในห้วง ๑.๕ เดือนสุดท้าย, ตั๋วโดยสารเครื่องบิน และ การเตรียมเอกสารการส่งสัมภาระกลับโดย DHL
                - เดินทางจาก El-Fasher ไปยัง Khartoum ในวันที่ ๒๓ พ.ย.๕๖        
            ๒.๓.๓.๓    จบภารกิจ ๒๕ พ.ย.๕๖ และเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ ๒๖ พ.ย.๕๖

๓. ข้อแนะนำระหว่างปฏิบัติภารกิจและบทเรียน
        การเดินทางภายในพื้นที่ภารกิจ
        - การเดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการจะใช้การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และ/หรือ เฮลิคอปเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทาง และสนามบินที่รองรับ ณ หน่วยปฏิบัติการนั้นๆ หากมีสัมภาระจะมีการส่งไปล่วงหน้า (CMR, Cargo movement request) เพื่อป้องกันการสูญหายซึ่งจะมีผลกระทบกับการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก จึงควรแบ่งใส่ในกระเป๋าเดินทางที่จะไปพร้อมกับตัวเราด้วย เนื่องจากกระเป๋าเดินทางและสัมภาระจึงมักจะมีน้ำหนักเกินที่กำหนดไว้ ปกติกำหนดไว้ไม่เกิน ๒๐ กก. แต่สามารถเจรจาต่อรองได้หากเป็นพัสดุสำคัญหรือเป็นการลงปฏิบัติงานครั้งแรก(Initial Deployment) เมื่อเข้า check-in ที่สนามบินถ้าหาก จนท.ชั่งกระเป๋าเดินทางของเราแล้วบอกว่ากระเป๋ามีน้ำหนักเกินให้แจ้งกับ จนท. ว่าเราเป็นผู้มาใหม่หรือ ( New arrival )เป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งให้โยกย้ายหมุนเวียนไปปฏิบัติราชการที่ใหม่ (Re-deployment) แล้วแต่กรณี เราจะพบทั้งกรณีที่
                    * จนท. ไม่อนุญาตให้ติดต่อที่ บก.Sector ทันที เพื่อหาแนวทางการแก้ไข
                    * จนท. อนุญาต ก็ให้ตรวจสอบการจัดส่งกระเป๋าเดินทางหรือสัมภาระที่จะเก็บไว้ในเครื่องว่าได้ระบุสถานที่ตรงตามที่ที่เราจะไปหรือไม่ โดย จนท.จะเขียนชื่อ TS บนสติกเกอร์แล้วติดที่กระเป๋าเดินทางของเรา (มีกรณีเขียนชื่อ TS ผิดทำให้จัดส่งกระเป๋าเดินทางไปที่อื่น) และจะสามารถตรวจสอบได้อีกครั้งเมื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ โดยกระเป๋าและสัมภาระทั้งหมดจะวางเรียงไว้ตรงกลางระหว่างที่นั่ง ถ้าหากไม่มีสัมภาระของตนเองหรือมีไม่ครบจำนวน ให้รีบแจ้ง จนท.ทันที เพราะเราจะไม่สามารถตรวจสอบกระเป๋าของเราได้อีก เนื่องจากอยู่ในที่จัดเก็บกระเป๋าเฉพาะ ซึ่งจะตรวจสอบได้อีกครั้งเมื่อถึงที่หมายแล้ว
    - ในกรณีของกระผมเมื่อลงปฏิบัติงานครั้งแรกที่ BURAM TS ( NYALA TS ) ของทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีพส่งไปทาง CMR และทุกกล่องไปถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ  และมีเจ้าหน้าที่ปลายทางเก็บรักษาไว้ให้ (MOVCON )
                                  
                                         Boarding pass                      ตั๋วสำหรับ claim กระเป๋า

        การปฏิบัติงาน
              UNMO หรือ MILOB นั้น มีบทบาทสำคัญในภารกิจเพราะเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จริง ทราบข้อมูลจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรียกว่า เป็นหูเป็นตาของ(Ear and Eye) UN ซึ่งจะต้องมีความเป็นกลาง ( Nuetrallity)ไม่เข้าข้างฝ่ายใด( Conciliation )ทั้งรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธ โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามหลักปฏิบัติที่สหประชาชาติกำหนด โดยมีเนื้อหาพอสังเขปดังนี้     
             การออกลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ(Area of Responsibility: AOR) ของ TS ตนคือหน้าที่หลัก รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย, กำกับดูแล/ตรวจสอบ และรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่, สอบสวนข้อกล่าวหา การละเมิด การรุกราน หรือข้อตกลงการหยุดยิง, การตรวจสอบในกระบวนการปลดอาวุธ/การจัดตั้งกลุ่มใหม่และฐานทัพของกองกำลังทางทหารที่เกิดขึ้นรวมทั้งการสนับสนุนงานขององค์กรต่างๆและผู้แทนจากสหประชาชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆคือ การลาดตระเวน กับ การรายงาน
              ๑. การลาดตระเวน (Patrol) เป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะทำการลาดตระเวนโดยลำพังร่วมกับล่าม (ชาวซูดาน) ซึ่งช่วยทั้งแปลความจากชาวบ้านแนะนำเส้นทางที่ปลอดภัยและช่วยเหลือด้านการข่าวสถานการณ์ต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบ
ประเภทของการลาดตระเวนที่กำหนดไว้มีดังนี้  
 - การลาดตระเวนปกติ (Routine Patrol: RP) ระยะทางระหว่าง ๕-๒๐ กม.
 - การลาดตระเวนระยะใกล้ (Short Range Patrol: SRP) ระยะทางระหว่าง ๒๐-๔๐ กม.
- การลาดตระเวนระยะไกล และการพักแรม (Long Range Patrol: LRP) ระยะทางระหว่าง ๔๐-๑๐๐ กม.                                                                                           
- การคุ้มกันขบวนลำเลียงทางการส่งกำลังบำรุงและการธุรการ (Logistic and Administration Escort: LAE)    
        
Escort UN civilians, vehicles and fuel trucks from Gurab  exchange Point to Kabkabiya MTL

            - การคุ้มกันบุคคลสำคัญขององค์กรต่างๆเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Escort: HE)
            - การลาดตระเวนกลางคืน (Night Patrol: NP) ระยะทางที่แนะนำไว้คือ ตั้งแต่ ๑๐ กม. ขึ้นไป เป็นการลาดตระเวนที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากทั้งรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธต่างๆจะจับจ้องการเคลื่อนไหวของกองกำลังในเวลากลางคืนเป็นพิเศษ ทำให้ต้องมีการวางแผนการลาดตระเวนที่รัดกุม
    - การลาดตระเวนอื่นๆ เช่น การเดินทางเพื่อไปตรวจสอบและเก็บข้อมูล (Verification Patrol) ของกลุ่มติดอาวุธเพื่อเข้าสู่กระบวนการของ DDR, การตรวจสอบและเก็บข้อมูล ณ ที่เกิดเหตุตามที่ได้รับคำสั่งหรือตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และ การพบปะผู้นำชุมชน เป็นต้น
 
Verification Patrol at Tangoro village
 
                  การเตรียมการ                
                      - ต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่าง MILOB, PKF, UN Police และ เจ้าหน้าที่จากองค์กรต่างๆ (ถ้ามี) โดยต้องทำความเข้าใจใน คำสั่ง, แผนการลาดตระเวน(Task Order) รวมทั้งศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนผู้ร่วมลาดตระเวน จำนวนยานพาหนะ การติดต่อสื่อสาร สถานที่ที่จะไป กลุ่มผู้ครอบครองพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการขออนุญาตผ่านด่านตรวจ (Check Point) และ/หรือการแจ้งเข้าพื้นที่ที่ครอบครองโดยรัฐบาล หรือกลุ่มติดอาวุธรวมทั้งจะต้องใส่ใจในข้อมูลด้านการข่าว และการแจ้งเตือน จากทั้งรัฐบาล และจากกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่างๆ
                    - การเตรียมยานพาหนะในการลาดตระเวน ปกติจะใช้รถยนต์ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับ MILOB ในแต่ละ TS จะมีรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นยานพาหนะประจำหน่วย(ปกติ ๒-๔ คัน) เนื่องจากมีความเหมาะสมในการเคลื่อนที่ตามภูมิประเทศที่มีความทุรกันดาร รถยนต์บางคันอาจจะต้องใช้งานทุกวัน หลาย TS มีการรายงานการชำรุดของรถยนต์ ต้องได้รับการซ่อมบำรุงตามวงรอบและตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการออกลาดตระเวน จะต้องตรวจดูน้ำมันเชื่อเพลิงให้พอเพียงกับระยะทาง อุปกรณ์สื่อสารประจำรถ ยางลมล้อรถ เกียร์ อุปกรณ์สำหรับช่อมรถ อุปกรณ์ลากจูง และอุปกรณ์ช่วยแก้ไขในกรณีรถติดทรายหรือติดโคลน เช่นพลั่ว เป็นต้น นอกจากนี้ MILOB จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ และรู้วิธีแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดข้อขัดข้อง
        - การเตรียมอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยประจำตัว เช่น เสื้อเกราะ และหมวกเหล็ก ซึ่งจำเป็นมากเพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเมื่อไหร่ อีกประการหนึ่งคือเมื่อลาดตระเวนบางครั้งจะมีการร่วมถ่ายรูปกับชาวบ้าน และแนบภาพเหล่านั้นไปกับรายงานการลาดตระเวน หากภาพนั้นปรากฏว่าเราไม่ได้สวมเครื่องป้องกันก็จะถูกตำหนิ และบางครั้งก็ถูกสอบสวนว่าละเมิดกฎความปลอดภัยของ UN อีกด้วย
        - อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น วิทยุ โทรศัพท์ผ่านสัญญาณดาวเทียม และเครื่องบอกตำแหน่ง (GPS)            - การเตรียมอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและของใช้ส่วนตัว ในกรณีที่จำเป็นต้องนอนค้างคืนกลางทะเลทราย
- อุปกรณ์อื่นๆเช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น และ แว่นตากันแดด เป็นต้น    
                     การปฏิบัติขณะลาดตระเวน
                          - ดำเนินการตามข้อปฏิบัติในการลาดตระเวน และปฏิบัติตามผู้ควบคุมขบวนเดินทางอย่างเคร่งครัด แต่สามารถให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ และแนวทางการปฏิบัติ แก่ผู้ควบคุมขบวนเดินทางได้ และต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอขณะออกลาดตระเวน คอยสังเกตเส้นทางที่ขบวนกำลังจะไปไปว่าบริเวณไหนน่าสงสัย ขบวนสามารถผ่านไปได้หรือไม่ให้แจ้งผู้ควบคุมทันที
                      - ส่วนใหญ่การได้ข้อมูลจะมาจากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ โดยควรที่จะเริ่มต้นด้วยการทักทาย (ถ้าทักทายเป็นภาษาพื้นเมืองก็จะยิ่งสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น)อัสลัมมาเลกุม เวลาตอบ วาเลกุมมัสลัม ทำความรู้จัก และแสดงความเป็นมิตรกับชาวบ้านในพื้นที่และผู้นำชุมชน โดยการพุดคุยและสอบถามข้อมูลต่างๆ ในเรื่องทั่วๆไป ให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกันก่อน แล้วจึงเข้าประเด็นที่ต้องการ โดยมีหัวข้อหลักคือ ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพลเรือนในพื้นที่ การศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล                                    
                            
                                                      สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่

                    - การมีปฏิสัมพันธ์จากชาวบ้านจะต้อง ถามผ่านล่ามทุกครั้งแล้วให้ล่ามแปลภาษา
อารบิกเป็นภาษาอังกฤษกลับมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามที่ชาวบ้านแจ้ง ต้องเน้นย้ำให้ล่ามถ่ายทอดข้อความจากเราให้ถูกต้องและสุภาพ, น้ำเสียงต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่ชวนให้ฟังแล้วรู้สึกไปในทางที่เป็นลบ
                    - ในการพูดคุยจะต้องระวังคำพูด โดยมีการอบรมว่าต้องไม่มีการพูดเชิงให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ แจ้งกับชาวบ้านหรือผู้ชุมชนไปว่า สิ่งที่เราทำอยู่เป็นเพียงการลาดตระเวนสังเกตการณ์ความเรียบร้อยทั่วไปเท่านั้น แต่จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นรับผิดชอบงานที่ต่างๆกันเช่น การแจกจ่ายอาหาร หรือเรื่องการสาธารณสุข เป็นต้น เพราะถ้าหากมีข้อผิดพลาดหรือทำไม่ได้อย่างที่สัญญาไว้ จะกลายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมากเกี่ยวกับความเชื่อถือที่มีต่อเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของ UN สิ่งที่ทำได้คือ ต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าเราจะนำข้อมูลที่ได้จากชาวบ้านไประบุในรายงานเพื่อส่ง UN แล้วรอผลการพิจารณาต่อไป
                ๒. การรายงาน ประกอบด้วย
                    การรายงานประจำวัน ประกอบด้วย
                    * Data Tracking Report คือการรายงานการมาปฏิบัติงาน และจำนวนของ MILOB ที่คงอยู่ใน TS ตามลำดับ โดยรายงานในเวลา ๐๘๐๐-๐๘๓๐ น.
                    * Voice Daily Report เป็นการรายงานทางโทรศัพท์ถึง นายทหารเวรประจำกองบัญชาการ Sector South ในเวลา ๐๘๐๐-๐๙๐๐ น. เกี่ยวกับสถานการณ์โดยทั่วไป ความพร้อมของการติดต่อสื่อสาร (เช่น Radio, Telephone, Internet และ Lotus notes ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น Outlook) และอุปสรรคปัญหาข้อขัดข้อง เป็นต้น
                    * Daily Situation Report: Daily SITREP หรือ DSR เป็นการรายงานการปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ตลอดห้วงเวลา ๒๔ ชั่งโมงที่ผ่านมา เช่น การลาดตระเวน การตรวจเยี่ยมจากผู้บังคับบัญชา การรับรองเจ้าหน้าที่จากองค์การต่างๆ สถานภาพด้านกำลังพล อุปกรณ์สื่อสาร ยานพาหนะ และ อุปสรรคข้อขัดข้อง-ข้อเสนอแนะ ตลอดจนกิจกรรมที่จะดำเนินการใน ๒๔ ชั่งโมงข้างหน้า โดยรายงาก่อนเวลา ๑๒๐๐ น.
                    * Patrol Report คือการรายงานผลการลาดตระเวน กำหนดให้รายงานในโอกาสแรกภายหลังการลาดตระเวนเสร็จสิ้นและกลับถึงหน่วยเรียบร้อย                                    
การรายงานประสัปดาห์ (Weekly Report) ประกอบด้วย
                    * Duty Roster คือ การส่งรายชื่อผู้เข้าหน้าที่ลาดตระเวน และผู้เข้าหน้าที่นายทหารเวรประจำวัน                        
                    * Weekly Activity and Summary Plan เป็นการรายงานสรุปกิจกรรมที่ดำเนินการในรอบ ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ จำนวนการลาดตระเวน การตรวจเยี่ยมหน่วยจากผู้บังคับบัญชา การสนับสนุนองค์กรต่างๆของ UN และการร่วมกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น พร้อมกับจัดส่งแผนการปฏิบัติในห้วง ๑ สัปดาห์ถัดไปด้วย
                    * Weekly LOG SITREP คือการรายงานเกี่ยวกับ สถานภาพต่างๆ ในสายการส่งกำลังบำรุง
                    การรายงานประจำวันเดือน (Monthly Report) ประกอบด้วย
                    * Monthly Attendance Record: MAR คือ รายงานสรุปสถิติการมาปฏิบัติงาน การลาพักของ MILOB
                    * Accommodation Report คือ รายงานการเข้าพักอาศัยในที่พักของ UN
                    * Leave Plan คือ รายงานภาพรวมแผนการลาของ MILOB แต่ละคน
                    * Leave Request คือ ใบลาของ MILOB แต่ละคนที่เสนอมาเพื่อขออนุมัติลา
                    * Monthly Plan for Operations เป็นการรายงานคล้ายกับ Weekly Activity and Summary Plan แตกต่างกันตรงที่เป็นการสรุปกิจกรรมที่ดำเนินการในรอบ ๑ เดือนที่ผ่านมาพร้อมกับจัดส่งแผนการปฏิบัติในห้วง ๑ เดือนถัดไป
                    * Weekly Activity and Summary Plan and Monthly Plan for Operations เป็นการรายงานสรุปกิจกรรมที่ดำเนินการในรอบ ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ จำนวนการลาดตระเวน การตรวจเยี่ยมหน่วยจากผู้บังคับบัญชา การสนับสนุนองค์กรต่างๆของ UN และการร่วมกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น พร้อมกับจัดส่งแผนการปฏิบัติในห้วง ๑ สัปดาห์ถัดไปด้วย
                การรายงานด่วน (Incident Report, Flash Report) เป็นการรายงานเมื่อเกิดสถานการณ์สำคัญเช่น เหตุการณ์ปะทะของกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆกับ GoS (Government of Sudan) การปล้นทรัพย์ทุกชนิดหากได้รับการรายงาน การบาดเจ็บที่รุนแรงของจนท.UN เป็นต้น โดยจะต้องรายงานภายใน ๒๔ ชั่งโมงหลังจากเกิดเหตุ
                    หมายเหตุ ในเรื่องการรายงานเหล่านี้ นายทหารไทยมักจะไม่มีปัญหาข้อขัดข้องในการเขียน หรือพิมพ์รายงานส่ง เนื่องจากมีความรู้ทางด้านไวยกรณ์ในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี บางครั้งพบว่าการรายงานของนายทหารไทยสามารถทำได้ดี มีความเรียบร้อย และ ถูกต้องสมบูรณ์ มากกว่ากลุ่มประเทศอาหรับและชาติในทวีปแอฟริกา ซึ่งสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านายทหารไทย

        การใช้เทคโนโลยีช่วยในการปฏิบัติงาน
                  - การปฏิบัติงานในปัจจุบันจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสามารถใช้งานโปรแกรมพื้นฐาน Microsoft Office เนื่องจากเป็นเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการรายงานประเถทต่างๆ, ใช้ในการจัดการกับฐานข้อมูล เพื่อลดภาระด้านธุรการ และลดข้อผิดพลาดในการคำนวณ อีกทั้งช่วยประหยัดทรัพยากร เช่น กระดาษหรือเอกสารต่างๆ เพื่อการพัฒนาความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น UN ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในภารกิจนี้หาความรู้เพิ่มเติมในระหว่างปฏิบัติภารกิจได้ โดยการขอเข้ารับการอบรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมพื้นฐานดังกล่าวตามห้วงเวลา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกของหน่วยที่จัดการฝึกให้  
                เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ จึงได้มีระบบที่ช่วยในการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสาร ดังนี้
                การใช้ Lotus Notes
                          Lotus Notes เป็นซอฟแวร์ที่มีลักษณะเป็น Groupware คือ เป็นซอฟแวร์ที่รองรับการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ จะช่วยให้กลุ่มผู้ใช้ทำงานร่วมกันได้ โดยผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น การส่ง E-mail , การใช้ data sharing  ทั้งนี้ กรุปแวร์จะมีการควบคุมการไหลของข้อมูลและการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ในตัวของ Notes จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นไฟล์  ข้อมูลที่สร้างขึ้นโดย Notes หรือไฟล์ข้อมูลจากซอฟแวร์อื่นๆ และยังสามารถรวบรวมไฟล์ต่างๆ เหล่านี้ เข้าเป็นไฟล์เอกสาร หรือ ฐานข้อมูลของ  Notes เพียงไฟล์เดียวก็ได้  Lotus Notes จะแบ่งการทำงานเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนลูกข่าย (Client) จะเรียกว่า “Notes” และส่วนเซิร์ฟเวอร์ (Server) จะเรียกว่า “Domino”
                Notes เป็นโปรแกรมฐานข้อมูลลักษณะ free-form นั่นคือ Notes จะเหมือนโปรแกรมฐานข้อมูลทั่วไป ในส่วนการจัดกลุ่มและการควบคุมข้อมูล แต่ส่วนที่ไม่เหมือนก็คือ ข้อมูลภายใน Notes สามารถอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ ข้อมูลจะเก็บไว้ในเอกสาร (Document) และเอกสารจะเก็บไว้ในฐานข้อมูล โดยที่เอกสารสามารถประกอบด้วยข้อมูลหลายๆประเภท และฐานข้อมูลจะประกอบด้วยเอกสารหลายๆชุดที่มีความสัมพันธ์กันและยังมีวิธีหลายวิธีในการจัดการกับตัวเอกสารด้วย การประยุกต์ใช้งานของ Notes ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถเข้าถึงในรูปแบบของ Web page ได้ เพราะซอฟท์แวร์ Browser ต่าง ๆ สามารถอ่านไฟล์ของ Notes และนำเสนอในรูปแบบ Web page เราสามารถที่จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมาใช้ในงานขององค์กรได้ Lotus Notes สามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นได้ทั้งบน Client และ Web ด้วยภาษา Formula, Lotus Script, JavaScript และภาษา Standard บนเว็บทั้งหมด แต่มีข้อยกเว้นที่บางองค์กรหรือบางงานที่ไม่ควรจะใช้ Notes ในการทำงาน ได้แก่งานที่มีลักษณะ ดังนี้  
                - งานที่ทำงานเป็นแบบเวลาจริง (Real-Time)
                - งานที่มีฐานข้อมูลขนาดมากกว่า 4 GB
                - งานที่ต้องการการเข้าถึงข้อมูลแบบรายงาน หรือแบบตอบคำถาม (Report-based or query-based)
                - งานที่มีการคำนวณที่ซับซ้อน
                Notes มีระบบความปลอดภัยของข้อมูล โดยจะดูแลรักษาความปลอดภัยด้วยกรรมวิธีต่างๆ หลายขั้นตอน ตั้งแต่กลไกการควบคุมการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ ไปจนถึงการควบคุมการเข้าถึงเอกสารแต่ละฉบับ ด้วยกลไกหลายขั้นตอนทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า ผู้ใช้คนอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเข้าไปดูหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลของตนได้ โดยได้เตรียมระดับความปลอดภัยไว้ 4 ระดับ ดังนี้  
                - Authentication
                - Access Control Level Field – Level
                - Privacy Digital
                - Signatures
          
                ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน จะได้รับการแจกจ่าย E-mail Address ตามตำแหน่งหน้าที่ แต่เนื่องจากเนื้อที่บน Server จำกัดเพียง 200 MB ต่อหนึ่ง Address เมื่อใช้งานเกินความจุจะส่งได้เฉพาะข้อความเมล์ แต่จะแนบไฟล์เอกสารไม่ได้ และไม่สามารถจัดเก็บเมล์ดังกล่าวเป็นข้อมูลได้ ดังนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องบริหารเนื้อที่ดังกล่าวให้เพียงพอต่อการใช้งาน อย่างไรก็ตาม Lotus Notes มีฟังก์ชัน Archive ที่ช่วยให้เราสามารถย้ายเอกสารส่วนที่เราไม่ได้ใช้งาน หรือต้องการเก็บเป็นประวัติไว้ออกมาเก็บไว้ใน Hard disk ของเครื่อง Computer ที่โต๊ะทำงานได้ จากข้อดีดังกล่าว สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลย้อนหลังในการปฏิบัติงานด้านส่งกำลังบำรุงได้ถึง ปี ๒๐๐๙ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลดังกล่าวยังถูกเก็บไว้ในระบบหรือไม่ ดังนั้น จึงทำให้เกิดความต่อเนื่องในการกำกับดูแล และลดความซ้ำซ้อนของงานได้ เช่น การเบิกสิ่งอุปกรณ์บางประเภท ได้ทำการส่งเบิกแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งอาจจะใช้เวลามากกว่า ๓ เดือน หรือ ๖ เดือน จนกระทั่งอนุมัติ จึงทำให้ตรวจสอบได้ว่า สถานภาพสิ่งอุปกรณ์ที่ยังขาดอยู่ในหน่วยนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใด เป็นต้น

ปัจจุบัน UNAMID  กำลังเปลี่ยน Lotus note เป็น Outlook  ซึ่งใน Kabkabiya Ts ซึ่งกระผมได้ปฎิบัติงานได้เปลี่ยนจาก Lotus note เป็น Outlook ช่วงเดือนสิงหาคม  ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายการส่งอีเมลทั่วไปเหมือน Yahoomail or hotmail ซึ่งง่ายต่อการส่งข้อความ และแนบไฟล์เอกสาร
             การทำ MOP (Movement of Personnel) จาก FSS  
                    ระหว่างการปฏิบัติภารกิจมักมีการเดินทางไปยังที่ต่างๆเสมอ(นอกเหนือจากการลาดตระเวน) ที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยเครื่องบินแต่ละประเภท ในการนี้จะต้องมีการทำเอกสารเพื่อขออนุญาตผู้มีอำนาจและให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบความเคลื่อนไหวของกำลังพล รวมทั้งให้หน่วย Movement Control: MOVCON ได้บรรจุรายชื่อของเราเข้าไปในเที่ยวบินที่ต้องการที่ระบุไว้ใน MOP จึงจะสามารถเดินทางได้

                                      MOP ที่ได้ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งมีการประทับตราวันที่เดินทางคล้ายกับ Passport ให้เก็บไว้เป็นหลักฐานของเราจนกว่าจะจบภารกิจ

             ในปัจจุบัน ก่อนที่จะทำ MOP ต้องทำSecurity clearance เสียก่อน โดยการทำ Security clearance  ต้องเข้าเว็บไซท์  UN SDSS  และใส่ Email and password  ซึ่งใน kabkabiya Ts
จะใช้ Email   This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.    and Passward  12345678@#  
             ซึ่งต้องมีการกรอก Profile ของเราเอง  และเข้าสู่  Security Trip และกรอกข้อมูลการเดินทางให้ตรงกับ leave request

            การตรวจสอบที่นั่งในเครื่องบินสารของ UN จาก Manifest
                ก่อนการเดินทาง ๑ วัน(เวลาประมาณ ๑๕๓๐ น.) สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่โดยสารไปกับเครื่องบินได้ เนื่องจากถึงแม้ว่าผู้ที่ได้รับอนุมัติ MOP ให้เดินทางไปกับเครื่องบินโดยสาร หรือเฮลิคอปเตอร์แล้วก็ตาม แต่อาจจะไม่มีชื่อในเที่ยวบินนั้นๆก็ได้ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจาก การแทรกชื่อผู้โดยสารที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่า ( First priority ) หรือโดยการใช้เส้นสาย/ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่มีชื่อในวันที่ทำ MOP ไว้ ก็ให้ไปที่ Tracking Unit เพื่อประสานขอเลื่อนกำหนดการเดินทางได้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่ามีเหตุขัดข้องทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปกับเครื่องในวันเวลาที่กำหนดไว้เดิม

             การใช้วิทยุสื่อสาร TRANSCEIVER UHF HAND-HELD TETRA, 380-430 Mhz
                เป็นวิทยุสื่อสารที่มีประโยชน์มาก สามารถใช้ติดต่อสื่อสารแบบ ระหว่างเครื่องกับเครื่อง ( private call) หรือ ระหว่างเครื่องกับโทรศัพท์ประจำสำนักงานได้ โดยใช้ติดต่อกันภายใน Sector และระหว่าง Sector รวมทั้งใช้เป็นโทรศัพท์ดาวเทียมโทรกลับเมืองไทยและทั่วโลกได้ด้วย แต่ต้องใช้รหัสส่วนตัว (PIN CODE) ซึ่งได้รับแจกจาก CITS Unit ช่วงการรายงานตัวเข้าปฏิบัติภารกิจเป็นรหัสเลข ๖ ตัว (ต้องเก็บไว้เป็นความลับห้ามให้ผู้อื่นรู้เด็ดขาดเพราะเมื่อเรียกเก็บค่าบริการสิ้นเดือนจะถูกหักเงินค่าใช้บริการของเจ้าของหมายเลขนั้นๆ) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการหาตำแหน่ง เป็นแบบ Grid Coordinate (Lat.-Long.  Degree  , minute and second) ซึ่งมีประโยชน์ในการลาดตระเวน ในกรณีเครื่อง GPS ชำรุด หรือ ใช้ประกอบกันเพื่อให้ได้ค่าความถูกต้องแน่นอน

        การย้ายหมุนเวียน (Re-deployment)
              การย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยใหม่ของ MILOB เป็นนโยบายของแต่ละ Sector  โดยกำหนดให้มีการย้ายหมุนเวียนภายใน Sector ซึ่งจะกระทำทุกวงรอบ ๖ เดือน เพื่อจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานใหม่ เพื่อให้มีความรอบรู้ในพื้นที่ของหน่วยปฏิบัติงานอื่น หรือย้ายไปยังพื้นที่ที่มีการเก็บค่าห้องพัก ( Paid and non-paid  ปัจจุบันคิดในอัตรา ๒๔ เหรียญสหรัฐฯ /วัน/คน ถึงแม้ว่าจะพักอาศัยร่วมกัน ในปัจจุบัน ถ้าลาพัก จะไม่เก็บค่าที่พัก แต่เราต้องนำ MOP ไปยื่นให้ Camp manager เพื่อรายงานไปยัง Financial office in El-fasher) เนื่องจาก UN มีนโยบายที่จะจัดที่พักอาศัยให้ครบทุก TS แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดได้ จึงมีบางที่ถูกตัดเงินและบางที่ยังไม่ถูกตัดเงิน ด้วยเหตุที่มีการถูกตัดเงินไม่เหมือนกันนี้เอง จึงทำให้ได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่ถูกตัดเงิน  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ให้มีการย้ายหมุนเวียนดังกล่าว แต่การย้ายหมุนเวียนก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละคนก็ไม่อยากที่จะเสียเงิน จึงเกิดดิ้นรนและทำทุกอย่างเพื่อที่จะไปอยู่ในที่ที่ไม่ต้องถูกตัดเงิน เกิดการใช้เส้นสายและระบบพรรคพวก โดยมากมักจะเป็นประเทศในกลุ่มอาหรับ และ เอเชียบางประเทศที่มีผู้ปฏิบัติงานในภารกิจเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ผู้ปฏิบัติจากประเทศที่มีจำนวนคนน้อย เช่น ประเทศไทย ต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยปริยาย (โดยกระผมเองครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ KABKABIYA TS ก็ถูกตัดเงินส่วนนี้เช่นกัน วันละ ๒๔ เหรียญ ) สำหรับการย้ายหมุนเวียนในลักษณะนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ MILOB เนื่องจากจะต้องมีเวลาสำหรับการ รับ-ส่งหน้าที่ (ซึ่งบางครั้งผู้ที่จะต้องรับ-ส่งหน้าที่ไม่ได้อยู่พร้อมกัน เนื่องจากอาจอยู่ในระกว่างการลา จึงทำให้ต้องเสียเวลา) นอกจากนี้ยังเสียเวลาในการเดินทางไปรายงานตัว และการเดินทางไปหน่วยใหม่  และ ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องไปปรับตัวสำหรับบรรยากาศใหม่ๆ พร้อมกับต้องศึกษาข้อมูลใหม่ๆเกี่ยว พื้นที่ เส้นทางการลาดตระเวน การทำความรู้จักกับผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งกว่าที่จะพร้อมปฏิบัติงานก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรืออาจจะมีคำสั่งย้ายหมุนเวียนมาก่อนที่คุ้นเคยกับการทำงานในหน่วยปฏิบัติการนั้นก็เป็นได้
        การทำงานร่วมกับผู้อื่น
    นายทหารไทยเรามีความสามารถในการไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจต่างๆของ UN เป็นอย่างดีเพราะมีความคล่องตัว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ตรงต่อเวลา มีน้ำใจ ขยัน ใส่ใจในหน้าที่ และ มีความละเอียดรอบคอบ (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบแอฟริกา หรือในกลุ่มประเทศอาหรับ) ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย เกิดผลงานที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน แต่ข้อด้อยของเราคือ ภาษาอังกฤษของเราอาจความเข้าใจในบางเรื่องอาจไม่ลึกซึ้งเท่าประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่สอง
        การดำรงชีพในภารกิจ
               ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ บางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์หลายๆอย่างที่เราไม่ได้คาดหมาย ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาประสบพบเจอ หรือดูแปลกสำหรับวัฒนธรรมเรา บางครั้งอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจจนพัฒนากลายเป็นความเครียด สิ่งที่ควรมีคือการทำใจยอมรับและปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมนั้นๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น วัฒนธรรมการกินอยู่หลับนอน ธรรมเนียมทหารของแต่ละชาติโดยเฉพาะชาติอาหรับและ
แอฟริกา การนับถือศาสนาและการทำศาสนกิจซึ่งดูจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิต รวมไปถึงนิสัยใจคอของชาวซูดานที่พบเจอกับปัญหาความอดอยากและการดำรงชีวิตซึ่งแสดงออกมาทางวาจาและการกระทำ บ่อยครั้งที่เรารู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ บ่อยๆจนถึงกับเป็นความน่ารำคาญ ซึ่งเราต้องปรับตัวและทำใจยอมรับกับสภาพ

๔. ปัญหา อุปสรรคและข้อขัดข้อง    
    ๔.๑ ปัญหาในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง MILOB กับ TCC
          MILOB กับ TCC (บางประเทศ) ซึ่งจัดกำลังจากประเทศในแถบแอฟริกา และประเทศในกลุ่มอาหรับ จะต้องปฏิบัติงานร่วมกันเกือบตลอดเวลา เนื่องจาก MILOB จะเป็นผู้เดียว (หากไม่ได้ออกาดตระเวนร่วมกับ UNPOL) เข้าไปพบปะหาข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ โดย TCC จะจัดกองกำลังคุ้มกัน (Protection Force) ในการทำงานร่วมกันมีหลายองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน บางชาติมีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่าง เช่น
            Buram TS ร่วมกับ PKF from Nigeria จากประสบการณ์ของกระผม ไม่มีการประชุมก่อนออกลาดตระเวน (Brief) ทำให้การออกไปลาดตระเวนบางครั้งสับสนเส้นทาง ระยะทาง ชื่อของหมู่บ้าน แผนเผชิญเหตุไม่ชัดเจน และหลังกลับมาจากลาดตระเวนก็ไม่มี de-brief ทำให้บางครั้งการส่งรายงานผลการลาดตระเวนไม่ตรงกัน (ระหว่าง MILOB, UNPOL, และ TCC) ในเรื่องข้อมูลต่างที่สำคัญเช่น ชื่อหมู่บ้าน พิกัดกริด หรือรายละเอียดการรายงาน
    Kabkabiya TS ร่วมกับกองร้อยรวันดาที่ ๓๖ ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมขบวนลาดตระเวนออก เพื่อคุ้มกัน Humanitarian Escort and LAE โดยตลอดเวลาที่ปฏิบัติภารกิจที่นี่ จึงเป็นการลาดเวนที่ซ้ำกันทุกวัน ช่วงประมาณ๑๖๐๐  Rawanbatt 36 จะออก Task order ซึ่งกำหนดวัน ว เวลา น ในการลาดตะเวน  แต่บางครั้งมีการเปลี่ยนเปลง แต่ทาง Operation officer ไม่ได้แจ้งหรือติดต่อสื่อสารให้     Milob ทราบ ทำให้บ่อยครั้ง ไปไม่ทันเวลาที่กำหนด ทำให้เสียภารกิจ
        ๔.๒ ลักษณะภูมิอากาศ
              ลักษณะภูมิอากาศในพื้นที่ปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่มีลักษณะอากาศร้อน แห้งแล้ง ความชื้นสัมพัทธ์น้อย ในบางครั้งเกิดพายุทะเลทราย(HABOOB) ซึ่งมีผลกระทบทั้งยุทโธปกรณ์ และร่างกายของตัวเราเอง โดยผลกระทบต่อยุทโธปกรณ์นั้น ได้แก่ เครื่องแบบสีซีดเร็ว, อุปกรณ์จำพวกยาง พลาสติก สามารถที่จะกรอบ แตกหักง่าย เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ แนวทางแก้ไขคือ ผู้ใช้ยุทโธปกรณ์ต้องรู้จักการปรนนิบัติบำรุงในก่อน ระหว่าง และหลังการใช้งาน เพื่อให้ยุทโธปกรณ์มีอายุการใช้งานที่เหมาะสม ไม่เสียหายก่อนหรือเสียหายโดยไม่จำเป็น ในส่วนผลกระทบที่มีต่อร่างกายเราเองนั้น ได้แก่ ผิวหนังจะแห้งมากกว่าปกติ อุณหภูมิร่างกายจะสูง เสียน้ำมาก จำเป็นต้องดื่มน้ำบ่อยครั้งเพื่อรักษาสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย, สภาพแดดจ้า อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่าย ดังนั้นเวลาออกกลางแจ้งต้องมีการสวมหมวก หรือชุดฝึกจำเป็นต้องปล่อยแขนลง นอกจากนี้ แสงแดดยังมีผลกระทบต่อสายตา จำเป็นต้องสวมแว่นกันแดด เวลาออกกลางแจ้งหรือเวลาขับรถ

        ๔.๓ สำเนียงภาษาอังกฤษจากชาติในแถบแอฟริกา
              กระผมค่อนข้างมีปัญหาสำหรับการฟังภาษาอังกฤษสำเนียงแอฟริกัน โดยเฉพาะการสนทนาผ่านโทรศัพท์ จึงต้องหมั่นพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานบ่อยๆ โดยพยายามตั้งใจฟังการพูดภาษาอังกฤษจากผู้ที่มาจากประเทศในแถบแอฟริกาเพื่อให้เกิดความเคยชินในสำเนียงการพูด
        ๔.๔ วีซ่า ที่มีความล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ทางการซูดานจะออกให้เมื่อใด เป็นไปตามลำดับการขอหรือไม่ สิ่งที่ทำได้เพียงแต่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมตนเองให้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติทันทีเมื่อได้รับการอนุญาตเข้าประเทศ
        ๔.๕ การช่วยเหลือพวกพ้องของตน ความไม่กระตือรือร้น และความไม่รับผิดชอบในการทำงานของเจ้าหน้าที่ของ UN ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน รวมถึงความแตกต่างที่มีมากจนเกินสมดุล ระหว่างฝ่ายทหาร กับพลเรือน เช่น เงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติงาน อัตราค่าเช่าที่พัก/สิ่งอำนวยความสะดวก และ ความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

๕. ข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ        
    ๕.๑ การสอบใบขับขี่
          จำเป็นต้องมีการซักซ้อมมาอย่างดีจากประเทศไทย และหากมาถึงพื้นที่แล้วถ้ามีโอกาสควรต้องมีการซักซ้อมที่สนามสอบจริงให้มากและเพียงพอจนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับการทดสอบ และหากผ่านการทดสอบตั้งแต่ครั้งแรกจะเป็นเรื่องดี เพราะจะลดความกังวลลงและใช้เวลากับเรื่องอื่นๆที่จำเป็นแทน(เช่นการรายงานตัวต่อ Sector, การส่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพไปยัง TS, การเตรียมตัวลงปฏิบัติพื้นที่ Team Site ฯลฯ) เนื่องจากยานพาหนะที่ฝ่ายอำนวยและผู้สังเกตการณ์ทางทหาร มีโอกาสที่จะได้ใช้งาน คือ NISSAN PATROL สำหรับฝ่ายอำนวยการ และ TOYOTA Land Cruiser (Buffalo) สำหรับ MILOB เป็นยานพาหนะซึ่งมีพวงมาลัยอยู่ด้านซ้ายมือ สำหรับประเทศซูดานนั้นขับรถใช้เลนส์ขวา โดยในส่วนการทดสอบทักษะการใช้ยานพาหนะภาคปฏิบัติ จะใช้ NISSAN PATROL ขับรถเข้าช่องจอดจำนวน ๕ ช่อง ภายในเวลา ๕ นาที เมื่อผ่านแล้ว จึงจะไปทดสอบการขับขี่บนถนน
    ๕.๒ การ Hand over-Take Over
                  ทั้งรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆทั้งที่เราจะรับมอบหรือส่งต่อ ก่อนที่จะรับมอบยานต้องมีการตรวจสภาพให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประจำรถ และความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น รอยขูด รอยแตกต่างๆ จะต้องมีหลักฐานการรายงานประกอบไว้อย่างชัดเจน มิเช่นนั้น ตัวเราจะกลายเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย โดยไม่จำเป็น และความเสียหายดังกล่าวไม่ได้เกิดในห้วงที่เราครอบครองหรือห้วงที่เราใช้งาน หากรับมอบแล้วไม่ได้ตรวจสอบก่อน และมีความเสียหายเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว จำเป็นต้องทำรายงานประกอบเพื่อยืนยันว่า เราไม่ใช่เป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว ในบางโอกาส สารวัตรทหาร จะได้รับมอบหมายให้ร่วมสอบสวนเหตุความเสียหาย ทำรายงาน และประเมินค่าความเสียหาย ซึ่งหากประเมินแล้ว
ไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐฯ จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายใดๆ เพราะยังอยู่ในวงเงินที่บริษัทประกันรับผิดชอบ
    ๕.๓ การฝึกประกอบอาหาร
          เมื่อฝ่ายอำนวยและผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ได้รับอนุมัติให้เข้าปฏิบัติงานใน UNAMID แล้ว สิ่งจำเป็นประการหนึ่ง คือ การประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีพในที่ตั้งหน่วยต่างๆ หรือ ใน El Fasher โดยในพื้นที่ Darfur มีข้อจำกัด คือ ไม่มีเนื้อหมู เนื่องจากเป็นเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม และไม่มีเครื่องปรุงที่หลากหลายเหมือนที่เมืองไทย ดังนั้น จำเป็นต้องฝึกการประกอบอาหารจากวัตถุดิบที่มีในพื้นที่
    ๕.๔ อื่นๆ
      - เตรียมข้าวของเครื่องใช้การจัดเตรียมให้ครบถ้วน โดยหาข้อมูลจากผู้ที่เคยปฏิบัติราชการที่มีลักษณะงานเดียวกัน ในบางครั้งผู้ที่จบภารกิจไปแล้วก็ไม่ได้เอาสิ่งของกลับไปด้วยทั้งหมด เช่นเครื่องครัว เครื่องปรุงอาหาร ชุดเครื่องนอน เครื่องแบบ ฯลฯ
      - ถ้าสิ่งใดมีไม่ครบก็สามารถดัดแปลงอุปกรณ์ในท้องถิ่นนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้ เช่น ปลั๊กเสียบต่อจาก UPS มายังคอมพิวเตอร์ หรือถ้าสิ่งใดขาดแคลนก็ให้จัดสรรเวลาไปจัดหาเพื่อกักตุน เช่น ในพื้นที่ ไม่มีไข่ไก่ หรือ ใบกระเพราขาย เราจำเป็นต้องจัดหาจากตลาดในเมืองใหญ่ เช่น El-Fasher หรือที่บ้านไทย ในช่วงที่เราได้รับอนุญาตลา
- เรียนรู้เทคโนโลยี และระบบการติดต่อสื่อสาร เช่น การเข้าระบบ Lotus Notes ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Outlook จากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสารของ TS หรือ หน่วยงานต่างๆภายใน UN รวมทั้งสามารถใช้ติดต่อสื่อสารและรับ-ส่งข้อมูลในขณะที่ตัวเราอยู่นอกหน่วย หรือระหว่างการลาพักผ่อน ได้   
- การดูแลสุขภาพร่างกาย รับประทานอาหาร/ดื่มน้ำที่สะอาด การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคกัด/ต่อย ที่ Kabkabiya สัตว์มีพิษ เช่น จัมเปี่ยนมักอยู่ตามเสื้อผ้า และที่นอน ดังนั้นก่อนสรวมเสื้อผ้าทุกครั้งต้องสลัดเสื้อผ้าทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีแมลงจัมเปี่ยน จากประสพการใน kabkabiya ถูกแมลงชนิดนี้ต่อยประมาณ ๒- ๓ ครั้ง จะทำให้บริเวรที่ถูกต่อย จะปวดและบวมแดง ต้องไปโรงพยาบาลมองโกเลีย ซึ่งพยาบาลก็ให้แต่ยาแก้ปวดมา และบางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายได้  นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้พอเพียง และ การออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนแอ หรือสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

 

 


                                รวบรวมโดย
                                             พ.ต.จุน   มงคลทรัพย์
                                                                            ผู้สังเกตการณ์ทางทหารสหประชาชาติ
                                                                             ภารกิจ UNAMID
              On call list 55